เทคโนโลยีของศูนย์ซ้อมเคอร์บี้

เทคโนโลยีของศูนย์ซ้อมเคอร์บี้

ลิเวอร์พูลระงับการก่อสร้างสนามซ้อมแห่งใหม่เมื่อ 13 มีนาคม ก่อนรัฐบาลอังกฤษประกาศมาตรการล็อค ดาวน์ ประเทศเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า ส่งผลให้สนามซ้อมที่เคอร์บี้ ไม่น่าจะเสร็จทันกำหนดเดือนกรฎาคมปีนี้ หรือลิเวอร์พูลเตรียมอำลาเมลวู้ดซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ปี 1960s เรื่อยมา และเยอร์เก้น คลอปป์เห็นว่า ถ้าจะพัฒนาทีม ลิเวอร์พูลจำเป็นต้องปรับปรุงสนามซ้อมให้ทันสมัยกว่านี้

การเจรจาล่าสุด ลิเวอร์พูลตกลงกับโทรัส เฮาซิ่ง ทรัสต์ ผู้ซื้อที่ดินบริเวณเมลวู้ดเดิมให้ขยับกำหนดการปรับปรุงพื้นที่ไปอย่างน้อย 1 ปี นั่นหมายความ ทีมของคลอปป์มีที่ซ้อมแน่นอน และผู้รับผิดชอบศูนย์ฝึกซ้อมแห่งใหม่ที่เคอร์บี้มีเวลาในการทำงานมากขึ้น

ในหนังสือโปรแกรมประจำการแข่งขัน ลิเวอร์พูล-บอร์นมัธ เมื่อ 7 มีนาคม 2020 นัดสุดท้ายก่อนพรีเมียร์ ลีก ประกาศยุติการแข่งขันชั่วคราว มีรายละเอียดของศูนย์เคอร์บี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นสนาม ซึ่งเยอร์เก้น คลอปป์เน้นว่า ต้องเหมือนพื้นสนามแอนฟิลด์แบบก๊อปปี้กันเลยทีเดียว

พื้นสนามแอนฟิลด์คือปัญหาใหญ่สำหรับเยอร์เก้น คลอปป์ ณ เวลาที่เขาบอกว่า แอนฟิลด์แย่มาก มีคนมองว่าเป็นเรื่องตลก หรือเขาต้องการแก้ตัวเมื่อทีมผลงานไม่ดี 7 พฤษภาคม 2017 ลิเวอร์พูลทำได้แค่เสมอกับเซาแธมป์ตัน 0-0 จบเกม “ผมรู้ว่า ไม่มีใครอยากฟังเรื่องนี้ แต่ผมกล้าที่จะพูด สนามเราแห้งเกินไป เรารดน้ำมากเท่าที่เราต้องการ แต่ผ่านไป 15 นาที สนามแห้งผากเพราะลม คุณเห็นได้ว่า หลายจังหวะที่นักเตะส่งบอลพลาด คุณคงคิดว่า พวกเขาเล่นอย่างนี้ได้อย่างไร แต่มันยากจริงๆกับสภาพสนามแบบนี้”

คลอปป์เชื่อว่า ถ้าต้องการให้ทีมประสบความสำเร็จ สนามต้องเหมาะสมกับเกมของเขา เฟนเวย์ กรุ้ปสนับสนุนผจก ด้วยการปรับปรุงพื้นสนามในช่วงปิดฤดูกาล เพื่อให้ทีมเล่นในสภาพที่ ผจก มองว่า เหมาะกับเกมของลิเวอร์พูลมากที่สุด จอห์น อัคเตอร์เบิร์ก โค้ชผู้รักษาประตู เปิดเผยเมื่อต้นปีว่า เหตุผลหนึ่งที่ลิเวอร์พูลผลงานดีมากในแอนฟิลด์ เพราะพื้นสนามที่คงสภาพความเปียกชื้นเท่าที่คลอปป์ต้องการ ด้วยระบบระบายน้ำใหม่ ทำให้ลิเวอร์พูลรักษาความเร็วในการเล่นได้ อันเป็นประโยชน์เวลาเจอฝ่ายตรงข้ามตั้งรับ

แล้วสนามซ้อมแห่งใหม่ที่เคอร์บี้พิเศษอย่างไร

ศูนย์ซ้อมใหม่ที่เคอร์บี้ มีสนามรวมทั้งหมด 32,000 ตารางเมตร เท่ากับสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 3 สนาม แบ่งเป็นบริเวณซ้อมของผู้รักษาประตูและวอร์ม อัพ โดยเฉพาะ แยกจากสนามใหญ่อีก 2 สนาม นี่ยังไม่รวมถึงสนามเทนนิสขนาดมาตรฐาน สนามเฮด เทนนิส พื้นหญ้าเทียม และสนามหญ้าเทียมขนาดใหญ่มีสนามวอลเล่ย์บอลชายหาด แพดเดิ้ลเทนนิส ซึ่งคลอปป์ชอบประลองฝีมือกับสตาฟโค้ช

จุดเด่นของสนามฟุตบอลคือ รายละเอียดทุกอย่างเหมือนกับพื้นสนามหญ้าที่แอนฟิลด์ ทั้งองศาลาดเอียง ระบบความร้อนใต้พื้นสนาม และพื้นหญ้าแท้ผสมกับหญ้าเทียม เดสโซ่ กราสมาสเตอร์ ซึ่งใช้ที่แอนฟิลด์ ถูกต้องครับ ปัจจุบันพื้นสนามฟุตบอลที่แอนฟิลด์ ซึ่งเราเห็นเขียวสวยสมบูรณ์ตลอดทั้งฤดูกาล เป็นพื้นหญ้าจริงผสมกับหญ้าเทียม เพื่อให้หญ้าจริงคงสภาพตลอดฤดูกาล

นึกภาพ การทอสนามหญ้าขึ้นมาเหมือนการทอผ้า ขั้นตอนนี้กินเวลา 12 สัปดาห์ ต้องเคลื่อนย้ายเครื่องทอเส้นใยมาปฏิบัติงานที่เคอร์บี้ หลังจากวิศวกรบดอัดทรายได้ตามที่ต้องการ เครื่องทอเส้นใยจะถักทอเส้นใหญ่ความยาว 192,000 กิโลเมตร เข้ากับพื้นทราย  แล้วค่อยปลูกหญ้า หญ้าจริงไม่ได้แซะมาเป็นแผ่นๆ แบบเราซื้อแผ่นหญ้าเพื่อปูสนามบ้านเรา แต่ปลูกใหม่ ณ จุดที่ต้องการ หรือบนพื้นเส้นใยพิเศษที่จัดเตรียมไว้ โดยใช้เมล็ดพันธุ์หญ้ารวม 2.5 ตัน โดยสนามนี้จะมีหญ้าธรรมชาติ 97 % และเส้นใยหญ้าเทียม 3 %

การเตรียมดินไม่ง่ายแค่ไหนนั้น ลิเวอร์พูลต้องการให้หญ้าเติบโตงอกงามดี เพราะฉะนั้น ทรายและดินที่ปลูกหญ้าต้องอุดมสมบูรณ์เป็นทุนเดิม นอกเหนือจากปุ๋ยที่จะเติมตามวงรอบ ส่วนประกอบหลักของดินและทรายที่ใช้คือ ซีโอไลต์ หรือเถ้าถ่านภูเขาไฟ ประมาณ 180 ตัน และปุ๋ยธรรมชาติแท้ๆ เป็นจำนวนมาก และยังต้องคำนวนระบบระบายน้ำไว้ล่วงหน้า เพราะส่วนนี้ถูกฝังกลบ และเป็นจุดสำคัญในการคงสภาพความเปียกชื้นให้มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้ เหมือนกับสนามของอาแคเดอมี่ ซี่งย้ายมาอยู่เคอร์บี้ล่วงหน้าแล้ว

จุดต่างๆของสนาม มีหัวฉีดน้ำจำนวน 60 หัวฝังไว้ เพื่อประสิทธิภาพการรดน้ำ ให้ฟุตบอลเคลื่อนที่เร็ว อันเป็นสไตล์การเล่นหลักของลิเวอร์พูลยุคเยอร์เก้น คลอปป์

เรื่องการดูแลรักษา ลิเวอร์พูลลงทุนเรื่องระบบบำบัดน้ำที่ใช้ในการดูแลสนามหญ้า เพื่อนำกลับมาใช้อีก เช่นการชำระล้างอุปกรณ์ หรือเครื่องจักรต่างๆ สำหรับการดูแลสนาม นั่นหมายถึงแทบจะไม่ปล่อยให้น้ำสะอาดไหลทิ้งลงท่ออย่างเดียว แต่นำกลับมาใช้เพิ่มความคุ้มค่าให้ทรัพยากร เท่ากับระบบต้องกรองใบหญ้า น้ำมัน ไข สิ่งสกปรกต่างๆ

ศูนย์ฝึกซ้อมแห่งใหม่ เป็นศูนย์พัฒนาทีมชุดใหญ่และทีมยู 21  ส่วนทีมอาแคเดอมี่ยังอยู่ที่เดิม นอกจากสนามฟุตบอลแล้ว ยังมีสนามกีฬาในร่ม โดยเพาะสนามซ้อมยามหน้าหนาว สระว่ายน้ำ สระน้ำบำบัด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพร่างกายนักเตะ สตูดิโอแห่งใหม่ของ LFC TV ห้องแถลงข่าวและสำนักงานขนาดใหญ่ ซึ่งรองรับเจ้าหน้าที่ของคลอปป์ทุกแผนก แต่ละจุดออกแบบเพื่อกระตุ้นความรูสึกของนักเตะ เช่น โรงยิมสำหรับฟื้นฟูร่างกาย สามารถมองเห็นสนาม เพื่อให้นักเตะพยายามต่อสู้ เพื่อโอกาสลงซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่น

ภายในอาคารยังออกแบบให้ประหยัดพลังงาน โดยเพราะแสงสว่างจากธรรมชาติ ลดการใช้ไฟฟ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น

กิตติกร อุดมผล

ปล ความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรีเมียร์ ลีก ยังถกเถียงกันไม่เลิก

1 ผจก หลายคนเห็นว่า เริ่มต้นแข่ง 12 มิยเร็วเกินไป อย่างดีคือสิ้นเดือนมิถุนายน

2 เจ้าของลิขสิทธิ์ในอังกฤษเรียกร้องเงิน 340 ล้านปอนด์ เป็นค่าชดเชยต่อให้การแข่งขัน 92 เกมที่ตกค้างดำเนินไปได้ แต่ถ้ายกเลิกฤดูกาล ค่าชดเชยอยู่ที่ 760 ล้านปอนด์

3 สโมสรพรีเมียร์ ลีก งงเป็นไก่ตาแตก ก็พวกข้าต้องเล่นท่ามกลางไวรัส พวกเอ็งก็ถ่ายทอดแล้ว ทำไมพวกข้าต้องเสียอีก 340 ล้านปอนด์ หารแล้วทีมละ 17 ล้านปอนด์  ทีมที่จะตกชั้น ยิ่งไม่อยากจ่าย เพราะไม่รวมค่าชดเชยนี้ ตกชั้นทีเท่ากับเสียรายได้ 200 ล้านปอนด์ ทีมใหญ่ก็ไม่อยากควัก

4 เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในอังกฤษ สกายและบีที บอกว่า ระหว่างบอลไม่เตะ พวกผมเสียรายได้จากผู้สมัครสมาชิก และเกมแบบไม่มีคนดู อาจไม่กระตุ้นให้คนเสียเงินค่าสมาชิก แถมบีบีซี ยังได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดให้คนดูฟรีอีกต่างหาก

5 จันทร์นี้ ทีมพรีเมียร์ ลีก ประชุมอีกที อาจโหวตเพื่อการเริ่มซ้อม และวันศุกร์อาจประชุมอีกทีว่า น่าจะเริ่มแข่งขันได้เมื่อไร

.

.

บทความโดย กิตติกร อุดมผล

Facebook fanpage: Captain No.12

อ่านข่าวฟุตบอลต่างประเทศ :: ข่าวฟุตบอลวันนี้

บทความก่อนหน้า :: บทความลิเวอร์พูล