ถ้าต้องปิดสนามเตะ

ยังต้องมีการพูดคุยจากทุกฝ่ายอยู่เรื่อยๆ ถึงทางออกของพรีเมียร์ลีกในช่วงไวรัส โควิด-19

มีการตั้งคำถามว่าถ้าลีกต้องเตะแบบสนามปิดขึ้นมาจริงๆ มันจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วอย่างนั้นหรือ

เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่ว่าถ้าเตะแบบสนามเปิดให้แฟนบอลเข้าชมตามปกติจะเป็นการเสี่ยงเกินไป ถ้าอย่างนั้นก็ปิดสนามเตะเลยสิ ปลอดภัยกว่า เตะกันเองไปก่อน ช่วงนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ

มันอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะฟุตบอลเกมหนึ่งไม่ได้มีคนเกี่ยวข้องแค่นักเตะ 22 คนในสนาม

ก็อย่างที่สมาคมนักฟุตบอลอาชีพหรือ PFA เขาแสดงความเป็นห่วงออกมานั่นล่ะ เตะแบบสนามปิดอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเลยก็ได้ ด้วยเหตุผลประกอบกันหลายข้อ

โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ไม่ได้เป็นศูนย์ จริงอยู่มันอาจลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลงได้มากเพราะไม่มีแฟนบอลเรือนหมื่นแห่กันเข้าดูเกมในสนาม แต่มีใครมอบความมั่นใจให้ได้บ้างว่าเตะแบบสนามปิดนั้นปลอดภัยแน่ๆ

นักฟุตบอลทั้ง 2 ทีมในสนาม ตัวสำรองและสตาฟฟ์โค้ชทั้ง 2 ทีมข้างสนาม ผู้ตัดสิน ทีมปฐมพยาบาล เด็กเก็บบอล ช่างกล้องประจำจุดถ่ายทอดสด เจ้าหน้าที่สนาม ฯลฯ

ทุกคนในบทบาทที่ว่ามาควรจะต้องเป็นผู้ปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซนต์ และทุกคนเหล่านี้นับรวมๆ กันแล้วได้ร่วมร้อยชีวิต

ที่สำคัญคือใครจะรับผิดชอบถ้าหากมีนักฟุตบอลหรือทีมงานสักคนติดเชื้อขึ้นมาในระหว่างตะลุยเตะแบบสนามปิดนั้น

พรีเมียร์ลีกรับผิดชอบไหม หรือจะเป็นสโมสรต้นสังกัด หรือว่าสถานีโทรทัศน์ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด?

มันจะคุ้มค่าเสี่ยงจริงหรือ อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่การดูแลให้มีการเตะแบบสนามปิดแค่เกมเดียวในวันเดียว แต่มันคือ 90 เกมตั้งแต่นัดที่ 30 ไปจนถึงเกมที่ 38 ที่พรีเมียร์ลีกปิดฤดูกาล

นั่นเฉพาะแค่พรีเมียร์ลีกเท่านั้น แชมเปี้ยนชิพยังเหลืออีก 99 เกม ลีกวันอีกราว 100 เกม ลีกทูอีกประมาณ 90 เกม

เอาแค่ตรงนี้ก่อน บวกกันเข้าไปดูอีกทีจะพบว่า ฟุตบอลลีก พรีเมียร์ลีก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ และพีเอฟเอ จะต้องคุยกันเพื่อหาข้อสรุปของจำนวนเกมระดับ 380 แมตช์

ถ้าแค่เกมเเดียวคุณอาจลดความเสี่ยงให้เหลือศูนย์ได้ แต่ 380 เกมคุณกล้าให้ความมั่นใจไหมว่าทุกชีวิตจะปลอดภัยแน่ๆ ถ้าเตะในสนามปิดช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ถูกกำจัดทิ้งเด็ดขาด

มองในมุมนี้แล้วก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ทว่าสื่ออังกฤษอย่าง เดลี่มิร์เรอร์ รายงานว่าแนวคิดในข้อตกลงร่วมกันของทั้งพรีเมียร์ลีก ฟุตบอลลีก เอฟเอ และพีเอฟเอในวาระที่จะถึงอาจจะยังเป็นการหาทางออกในเรื่องเตะแบบปิดสนาม

พยายามเข็นฤดูกาลให้เตะจบกันให้ได้

เหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเรื่องค่าชดเชยในสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดี่นับเฉพาะพรีเมียร์ลีกก็ประเมินมูลค่าไว้ถึง 780 ล้านปอนด์

เงินจำนวนนี้ไม่ใช่แค่พรีเมียร์ลีกที่ต้องรับผิดชอบ แต่ทุกสโมสรต้องร่วมกันรับผิดชอบเพราะได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว มิร์เรอร์ระบุว่าบางสโมสรอาจต้องจ่ายเงินคืนถึง 60 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำ

กับผู้ถือลิขสิทธิ์อย่าง สกาย หรือ บีทีสปอร์ตส์ นั้นไม่มีปัญหาหรอกเพราะอยู่ในประเทศ ยังพอจะพูดคุยกันได้ แต่ปัญหาใหญ่คือผู้ถือลิขสิทธิ์ต่างประเทศที่กระจายไปทั่วโลกต่างหาก

ต้องใช้เวลาเจรจานานเท่าไหร่ คุยยากคุยง่ายเพียงใด แล้วจะมีปัญหาคาราคาซังตามมาไหม

เมื่อพิจารณาให้ละเอียดขึ้นก็จะเห็นว่าเพราะอะไรทุกๆ ฝ่ายถึงอยากให้ฤดูกาล 2019/20 ถูกเข็นไปจนจบให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด

แนวโน้มของการประชุมครั้งที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นการนำนักเตะมาเก็บตัวรวมกันในโรงแรมต่างๆ ที่ผ่านการฆ่าเชื้อชนิด “หมดจดทุกซอกทุกมุม”

ไม่เพียงโรงแรมต่างๆ ที่จะถูกกำหนดว่าเป็นโรงแรมใดบ้างอีกทีเท่านั้น ยังรวมถึงสนามแข่งและศูนย์ฝึกซ้อมที่จะอยู่ในข่ายกำหนดให้เป็นสถานที่ใช้งานในช่วงเตะปิดสนามต่อสู้โควิด-19 ด้วย

มิร์เรอร์ใช้คำว่า Deep Clean ก็ยิ่งนึกภาพออก คือคงต้องทำความสะอาดอย่างหมดจดเลยจริงๆ และอาจต้องทำความสะอาดถี่ยิบ วันละครั้งหรือสองวันครั้ง เพื่อการรองรับฤดูกาล 2019/20 ที่เหลืออยู่ตลอดหนึ่งเดือนที่กำหนดไว้

กำหนดการคร่าวๆ คือฤดูกาลน่าจะเตะจบในวันที่ 12 กรกฎาคม ในขณะที่สัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกับสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ทั่วโลกหมดวันที่ 16 กรกฎาคม

นั่นคือแนวโน้มที่อาจจะเป็นซึ่งมิร์เรอร์นำมาเสนอ

นอกจากนี้ยังอาจจะมีข้อยกเว้นพิเศษให้ทุกสโมสรสามารถมีนักฟุตบอลมากกว่า 25 คนตามกฎที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้ รวมทั้งไม่จำกัดจำนวนโควต้านักเตะต่างชาติด้วย เพื่อความสะดวกในการตะลุยฟาดแข้ง 9-10 เกมให้จบภายในหนึ่งเดือน

การพูดคุยกันล่าสุดเมื่อวันศุกร์ พีเอฟเอ แสดงท่าทียอมรับว่าในภาคของนักฟุตบอลอาจจะต้องยอมถูกลดค่าจ้างลงเพื่อบรรเทาความเสียหาย เกมเตะที่กำหนดไว้เดิม 30 เมษายนอาจต้องเลื่อนออกไปอีก และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องลงเตะในสนามปิด

จำเป็นต้องยอมรับในเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

มันก็น่าถอนหายใจด้วยความเข้าใจในปัญหาและความกังวลของทุกฝ่าย โควิด-19 คือหายนะครั้งใหญ่จริงๆ

ฟุตบอลไม่เคยต้องมาเจออะไรแบบนี้ มันเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกและกระทันหัน จะหันซ้ายก็ติด จะหันขวาก็สะดุด ต้องพยายามแก้เงื่อนปมอย่างรอบคอบที่สุด

เรื่องที่ยากก็คือมันมีเรื่องของส่วนรวมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พรีเมียร์ลีก ลา ลีกา กัลโช่ เซเรีย อา บุนเดสลีกา หรือลีกอื่นๆ ทั่วยุโรปควรจะมีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ไม่ใช่ว่าบางลีกเลือกแข่งให้ครบจำนวนเกม บางลีกเลือกตัดจบ บางลีกให้เป็นโมฆะ

ดังจะเห็นได้จากที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรปพยายามกำหนดวันให้ฟุตบอลลีกทั้งหลายได้สรุปฤดูกาลของตัวเองให้จบภายในวันที่ 30 มิถุนายนด้วยการเลื่อนศึกยูโร 2020 ออกไปอีกหนึ่งปี แต่มันก็ยังสะเปะสะปะไม่มีทิศทางเพราะแทบไม่มีชาติไหนสนใจกำหนดวันที่ว่า

คาดกันว่า โควิด-19 จะก้าวไปถึงจุดพีคในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า แล้วหลังจากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่สภาวะคงที่ และลดลงด้วยการถูกการแพทย์กำราบ

หากวันนี้ไปจนถึง 3 สัปดาห์หรือ 20 วันข้างหน้า ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะพุ่งไปถึงจุดไหนก็เกินคาดเดา เพราะขนาดยังไม่ถึงจุดพีคยังเขย่าขวัญผู้คนทั่วโลกได้ขนาดนี้

เรื่องการกลับมาแข่งขันกันในสภาวะปกติที่แฟนบอลเข้าชมเกมได้อีกครั้งนั้นไม่ต้องพูดกันเลยในหลักครึ่งปีนับจากนี้ ประเมินกันว่าอย่างเร็วที่สุดอาจเป็นเดือนตุลาคมหรือยาวนานกว่านั้น

เนื่องจากต่อให้มีความปลอดภัยแน่นอนแล้ว รัฐบาลก็อาจจะยังคงมาตรการควบคุมกิจกรรมที่มีการชุมนุมของคนหมู่มากอย่างเข้มงวดต่อไปอีกระยะ

นี่คือช่วงเวลาที่สังคมฟุตบอลระส่ำระส่ายที่สุด เรายังมองไม่เห็นทางออก และสัมผัสได้ว่าทุกฝ่ายกำลังหาทางออกอย่างกระเสือกกระสน

หนักจริงๆ หนักหนาสาหัสอย่างที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนเลย

ป้าพล็อต

อ่านข่าวฟุตบอลต่างประเทศ :: ข่าวฟุตบอลวันนี้

บทความก่อนหน้า :: บทความลิเวอร์พูล