กระทบแค่ไหนเมื่อจีนยกเลิกสัญญา EPL

ตัวเลขค่าลิขสิทธ์ของพรีเมียร์ ลีกอังกฤษสูงขึ้นทุกครั้งที่มีการประมูล

ตัวเลขค่าลิขสิทธ์ของพรีเมียร์ ลีกอังกฤษสูงขึ้นทุกครั้งที่มีการประมูล

จุดเริ่มต้นแค่ 191 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 1992-97 ตัวเลขแตะหลักพันล้านในฤดูกาล 2001

ตัวเลขค่าลิขสิทธ์ของพรีเมียร์ ลีกอังกฤษสูงขึ้นทุกครั้งที่มีการประมูล

 

ถึง 3 พันล้านในฤดูกาล 2013 และ ฤดูกาล 2016-19 กลายเป็น  5.136 พันล้านปอนด์ เพิ่มจากเดิม 71 % เฉพาะในอังกฤษ สกาย สปอร์ตจ่าย 4.2 พันล้านปอนด์และบีที สปอร์ต จ่าย 960 ล้านปอนด์

เทียบสัดส่วนแล้ว ต่างประเทศจ่ายถูกกว่าแฟนบอลเจ้าของประเทศมาก เฉลี่ยแล้ว 10.19 ล้านปอนด์ต่อเกม อย่าเพิ่งขำนะครับ ในอังกฤษไม่ถ่ายทอดสดทั้ง 380 เกมเหมือนต่างประเทศ เมื่อปี 2016-19 ถ่ายทอดสดทั้งฤดูกาลแค่ 168 เกม แบ่งกันระหว่างสกาย 126 บีที 42

 

ฤดูกาล 2019-22 สัญญาปัจจุบัน 9.2 พันล้านปอนด์ รายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 4.2 พันล้านปอนด์ สูงกว่าเดิม 35 % ขณะที่การประมูลลิขสิทธิ์ในอังกฤษราคาถูกลง จาก 5.1 พันล้านปอนด์เมื่อปี 2016 เหลือ 5 พันล้านปอนด์ และถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นเป็น 200 เกม

 

สัญญาต่างประเทศแพงที่สุดคือ 564 ล้านปอนด์จากซูหนิง โฮลดิ้งเจ้าของ PPTV จีน ซึ่งกลายเป็นประเด็นล่าสุด เพราะบริษัทจีนยกเลิกสัญญาดื้อ รายงานข่าวว่า ซูหนิง โฮลดิ้ง ชำระเงินล่วงหน้าแล้ว 265 ล้านปอนด์ จากนั้นต้องแบ่งชำระเป็นงวด แทนที่จะจ่ายตามกำหนด ยอดคือ 160 ล้านปอนด์ ซูหนิง โฮลดิ้ง แจ้งเฉยๆว่า ขอยกเลิกสัญญา

เงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดคือรายได้สำคัญของทีมพรีเมียร์ ลีก ตามรายละเอียดดังนี้

สำหรับสโมสร เงินรางวัลจากพรีเมียร์ ลีกได้จากค่าลิขสิทธิ์และค่าโฆษณาเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น

1 50 % ของเงินรางวัลทั้งหมด หารด้วยจำนวนทีมแบ่งเท่ากัน

2 ค่าสนามและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในเกมถ่ายทอดสด (นับเฉพาะในอังกฤษอังกฤษ)

3 อันดับ

4 ค่าโฆษณาส่วนกลาง หารเท่ากัน

5 ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดต่างประเทศ หารเท่ากัน

ฤดูกาลที่ผ่านมา ลิเวอร์พูลได้ เงินข้อ 1  31.8 ล้านปอนด์ ค่าเช่าสนามถ่ายทอด 31 ล้านปอนด์ อันดับ 35.5 ล้านปอนด์ รายได้โฆษณาส่วนกลาง 5 ล้านปอนด์และลิขสิทธิ์ต่างประเทศ 71.3 ล้านปอนด์ รวมทั้งหมด 174.6 ล้านปอนด์

เทียบกับฤดูกาล 18-19 ได้เงินส่วนแบ่งหารเท่ากัน 34 ล้านปอนด์ ค่าเช่าสนามถ่ายทอด 33 ล้านปอนด์ อันดับ 36 ล้านปอนด์ รายได้โฆษณาส่วนกลาง 5 ล้านปอนด์ จุดแตกต่างสำคัญอยู่ที่ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดต่างประเทศ ได้แค่ 43 ล้านปอนด์ รวมแล้ว 152.4 ล้านปอนด์

ข้อ 5 คือความแตกต่างสำคัญ และกำลังเป็นปัญหา จากการขอยกเลิกของ PPTV จีน

ที่ประชุมตัวแทน 20 สโมสรพรีเมียร์ ลีกเลยตัดสินใจเคาะเมื่อวานว่า เมื่อซูหนิง โฮลดิ้งไม่จ่ายก็ยกเลิกสัญญาต่อกัน หากมองตัวเลขทั้งหมด 9.2 พันล้านปอนด์ คงไม่กระทบเท่าไร แต่ภาวะนี้ รายได้ทุกเพนนีสำคัญมากกับสโมสร เพราะไม่มีใครรู้ว่า การแข่งขันฟุตบอลจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร

เรื่องน่าสนใจกว่านั้นคือ ทำไมกลุ่มทุนจีนถึงตัดสินใจหันหลังให้อังกฤษ พวกเขาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลหลายทีม แอสตัน วิลล่า นอร์ทแธมป์ตัน วีแกน ตัดสินใจถอนตัวเหมือนกัน และเจ้าของทีมเซาท์แฮมป์ตันเตรียมขายทีม

การต่อรองระหว่าง ซูหนิง โฮลดิ้งและพรีเมียร์ ลีกเริ่มระหว่างการระบาดใหญ่ บริษัทจีนระงับการชำระเงิน และต่อรองเพื่อขอลดราคา หรือพรีเมียร์ ลีกต้องลดราคาให้สำหรับการเซ็นสัญญาครั้งต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า พรีเมียร์ ลีกปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่า การต่อรองเรื่องเงินเป็นแค่การบังหน้า จริงๆแล้ว จีนกำลังสั่งสอนอังกฤษ ที่ดำเนินนโยบายตามสหรัฐในเรื่องการแบนเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน แจ้งว่า หากจีนดำเนินมาตรการทำอะไรที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกง อังกฤษจะให้หนังสือเดินทางเครือจักรภพกับประชากรฮ่องกง 3 ล้านคน นั่นหมายความว่า คนฮ่องกงไม่ใช่คนจีนอีกต่อไป

เหมือนจีนดำเนินการต่อต้านอังกฤษโดยอาศัยฟุตบอลเป็นตัวนำ เกมระหว่าง ลิเวอร์พูล-เชลซี เมื่อฤดูกาลที่แล้ว แทนที่จะออกช่องใหญ่ คนดูเยอะ ซูหนิง โฮลดิ้ง และ PPTV โดยเกมดังกล่าวไปออกใน CCTV ซึ่งรับช่วงลิขสิทธิ์ต่ออีกทอด และ CCTV ก็ถ่ายคู่ดังกล่าวในช่องย่อยของตัวเอง เรียกว่า ไม่แคร์ยอดผู้ชมกันเลย

อย่าลืมว่า พรีเมียร์ ลีก ทำสงครามกับซาอุดิ อาระเบียเรื่องการขโมยสัญญาณถ่ายทอด และนำไปสู่การถอนตัวของกลุ่มทุนซาอุที่พยายามเทคโอเวอร์นิวคาสเซิ่ล

นักวิเคราะห์งงว่า ซูหนิง โฮลดิ้ง ซึ่งร่ำรวยมหาศาล รายได้เฉพาะ 1 ปี คือ 38 พันล้านเหรียญ ทำไมเพิ่งมาสนใจการลงทุนด้านลิขสิทธิ์ถ่ายทอดซึ่งเป็นเงินน้อยนิดมาก บางทฤษฎีบอกว่า จีนเริ่มรู้ตัวว่าจ่ายแพงเกินไป พยายามขอลดราคาแล้วพรีเมียร์ ลีกก็ไม่ยอม เลยยกเลิกแบบดื้อๆเลย

อ้างจากภาวะโรคระบาด เศรษฐกิจถดถอย จะมีผู้สื้อลิขสิทธิ์รายได้ถอนตัวแบบจีนอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นสโมสรยิ่งต้องระวังในการจับจ่ายถ้าคิดจะอยู่แบบยั้งยืน ใช่ว่าไทย ลีกเจอผลกระทบเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอด ลีกรวยที่สุดในโลกก็โดนเหมือนกัน

เข้าตำราว่า รวยมากก็เจ็บมาก

ว่ากันว่า ตั้งแต่การระบาดของโคโรน่า ไวรัส ซึ่งเริ่มต้นจากคนจีนอีกเหมือนกัน พรีเมียร์ ลีกเสียหายประมาณ 800 ล้านปอนด์  รับผิดชอบทีมละ 40 ล้านปอนด์ นั่นเยอะเลยสำหรับทีมที่วางแผนการเงินเรียบร้อย กู้ยืมมาลงทุน เซ็นสัญญากับนักเตะ ค่าตัวค่าเหนื่อยสารพัด ฉับพลันรายได้ลดลงนี่ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน

ลิเวอร์พูลวางแผนว่า ตุลาคมอาจให้คนดูเข้าสนามแอนฟิลด์ได้ สัก 12,000 คน สโมสรพอมีรายได้บ้าง แต่ไม่รู้คุ้มหรือไม่กับการเปิดสนามใหญ่ขนาดนั้น แต่ก่อให้เกิดรายได้ไม่ประมาณ 25 %  ก่อนจะถึงวันนั้น ทีมฟุตบอลคงต้องทำตัวเล็กๆ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ยกเว้นบางทีมที่เจ้าของพร้อมสนับสนุน โดยไม่มองว่า แท้จริงแล้ว สโมสรไม่ได้อยู่รอดด้วยธุรกิจ แต่เป็นการขอเงินพ่อแม่อตลอดเวลา

เกิดวันหนึ่งพ่อแม่เป็นอะไรไป แล้วไม่ทิ้งมรดกไว้ให้นี่ดูไม่จืดเลย จะเอารายได้ที่ไหนมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกินตัว

 

 

บทความโดย  :: กิตติกร อุดมผล

อ่านข่าวฟุตบอลต่างประเทศ :: ข่าวฟุตบอลวันนี้

บทความฟุตบอล :: บทความฟุตบอลก่อนหน้านี้

เว็บดูบอลออนไลน์ :: ดูบอลออนไลน์ฟรี