#กว่าจะเป็นกัปตันจอร์แดนเฮนเดอร์สัน ตอนที่ 2

#กว่าจะเป็นกัปตันจอร์แดนเฮนเดอร์สัน ตอนที่ 2

เขาเชียร์ซันเดอร์แลนด์ตั้งแต่เด็ก แต่สายสัมพันธ์ด้านฟุตบอลของเขาไม่ได้เริ่มต้นกับอาแคเดอมี่ของสโมสร

#กว่าจะเป็นกัปตันจอร์แดนเฮนเดอร์สัน ตอนที่ 2

ฟูลเวลล์อยู่ด้านเหนือของแม่น้ำเวียร์ ขับรถมุ่งหน้าเซาธ์ ชิลด์ส ผ่านเคลียดอน จะพบสนามซ้อมซันเดอร์แลนด์ เลยไปแค่ครี่งไมล์คือทะเลเหนือ เมื่อฤดูหนาวมาเยือน อุณหูภูมิลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง บวกกระแสลมยิ่งทำให้ความหนาวเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ แต่เฮนเดอร์สันสามารถฝ่าความหนาว ซ้อมฟุตบอลโดยลำพังหากเกมไหนเขาเล่นไม่ดี

ซึ่งปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เยาวชนอยากสัมผัส และนั่นคือสิ่งที่เฮนเดอร์สันสัมผัสตลอดชีวิตการเล่นฟุตบอลเยาวชน ปลายยุค 90 ต้นศตวรรษใหม่ เยาวชนซันเดอร์แลนด์ซ้อมที่สนามโรงเรียนชุมชนในอัสเวิร์ธ หรือบางทีต้องซ้อมที่สนามกีฬาของโรงงานรถยนต์นิสสัน ที่มีอยู่สนามฟุตบอล 3 สนามพร้อมห้องแต่งตัวเล็กๆ

มิตช์ เวลแลนส์คือโค้ชของเฮนเดอร์สัน  ก่อนเอลเลียตต์ ดิ๊กแมน ซึ่งอายุ 20 ต้นๆ รับช่วงต่อ เขาเป็นนักเตะแต่เก็ด แม็คเนมี่ หัวหน้าศูนย์ฝึกเยาวชนซันเดอร์แลนด์แนะนำให้หันมาเอาดีด้านโค้ช แม็คเนมี่ดีว่า อาแคเดอมี่คือเส้นเลือดหล่อเลี้ยงซันเดอร์แลนด์ เขาปรับการรับเด็กเริ่มจากอายุ 9 ขวบ แทนที่จะเป็น 14 ดังนั้น ต้องมีโค้ชเข้ามาเสริม ดิ๊กแมนเป็นตัวเลือกที่เหมาะ หากพิจารณาจากประสบการณ์การเล่นฟุตบอลก่อนบาดเจ็บ เฮนเดอร์สันผ่านอาแคเดอมี่ของซันเดอร์แลนด์ เดินตามรอยเท้าของดิ๊คแมนสู่ทีมชุดใหญ่ มีโอกาสให้เรียนรู้จากโค้ชเก่งๆ อาทิ ป๊อป ร็อบสัน ริคกี้ สบราเกีย และจิมมี่ เฮเก้น

เด็กส่วนใหญ่ในอาแคเดอมี่รู้จักกัน จากการอยู่ฝ่ายตรงข้ามในรายการต่างๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนั้น ซันเดอร์แลนด์ผ่อนปรนให้เด็กอายุ 9 ขวบเล่นทีมอื่นได้ เช่น ฟูลเวลล์ และคอนเซ็ตต์ จูเนียร์ส ซึ่งเป็นต้นสังกัดของไมเคิ่ล เคย์ ผิดกับปัจจุบัน นักเตะต้องเซ็นสัญญา ห้ามเล่นกับทีมอื่น และหมดโอกาสเจอกันในสนาม ดิ๊คแมนเชื่อว่า ระเบียบที่อนุโลมให้นักเตะมีสังกัดได้มากกว่า 1 ทีม มีส่วนพัฒนานักเตะ เหมือนเฮนเดอร์สันได้ประสบการณ์มากมาย เรียนรู้จุดอ่อน จุดแข็งของเพื่อนรุ่นเดียวกัน

แม็คเนมี่เล่นฟุตบอลอาชีพกับฮาร์ทลี่พูลได้แค่ 4  เกมก่อนหันเหมาเป็นโค้ช รับหน้าที่ดูแลโครงการพัฒนาเยาวชนระดับภูมิภาคของแมนฯ ยูฯ ที่เดอแร่ม เขารู้ดีว่าฟุตบอลของเด็กๆเป็นอย่างไร การเล่นสนุก สิ่งสำคัญคือ ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ ได้เล่นฟุตบอลอาชีพ ขณะเดียวกันอิสระด้านกฏระเบียบช่วยคลายความกดดันให้นักเตะในอาแคเดอมี่ทั้งหลาย ลดความเห่อเหิมในจิตใจเด็กๆ แม็คเนมี่เห็นแววของเฮนเดอร์สันตั้งแต่เด็ก เด่นที่สุดคนหนึ่งในรุ่น 9 ขวบ การเล่นกับฟูลเวลล์ทำให้เขาอยู่กับลูกบอลนานขึ้นจากการซ้อมที่ซันเดอร์แลนด์อย่างเดียว ขณะเดียวกัน การเล่นในลีกภูมิภาค เจอนักเตะความสามารถด้อยกว่า เป็นการหล่อหลอมความแกร่งเพราะคู่ต่อสู้จะเน้นพลังกำลังมากกว่าปกติ

วิธีการฝึกของซันเดอร์แลนด์ แตกต่าง แม็คเนมี่สังเกตว่า กว่าเด็กๆจะมาฝึกฟุตบอล พวกเขาใช้เวลาทั้งวันเรียนหนังสือ ฟังครูสอนอย่างเดียว เพราะฉะนั้นการซ้อมต้องไม่เหมือนเข้าห้องเรียน การให้อิสระกับเด็กเท่ากับเปิดสมองให้เด็กอยากเรียนรู้มากกว่าเดิม ก่อนการซ้อมแต่ละวัน โค้ชแต่ละคนเปิดโอกาสให้เด็กเล่นอย่างที่ต้องการ ปลดปล่อยความเครียด “ส่วนใหญ่เราให้เด็กพยายามครองบอล ไม่ใช่สั่งให้ทำนั่นทำนี่อย่างเดียว เราปล่อยให้เด็กคิดว่าอยากทำอะไร เปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ในสนาม ไม่ใช่ทำตามคำสั่งของโค้ช หากเราไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาคิดนอกสนาม พวกเขาจะคิดไม่เป็นเวลาอยู่ในสนาม”

แต่ทุกคนต้องอยู่ในระเบียบ ใครล้ำเส้นแตกแถวมีบทลงโทษ วินัยคือหัวใจสำคัญของเยาวชนซันเดอร์แลนด์ ก่อนการซ้อมแต่ละวัน นักเตะต้องจับมือทักทายกันเองและโค้ช  เขาบอกว่า นี่คือการเชื่อมสัมพันธ์ ลดระยะห่างระหว่างโค้ชและนักเตะ “เราจะบอกว่า  โค้ชมีหน้าที่กระตุ้นทุกคนด้วยการเตะก้น แล้วตบไหล่เพื่อปลอบใจ นอกนั้น ความเก่งกล้าเกิดขึ้นเพราะเด็กแต่ละคน”

ดิ๊กแมนบอกว่า เฮนเดอร์สันและแม็คคีโอว์นสนิทกันราวกับฝาแฝดในช่วงปีแรกๆ ความสามารถแตกต่างกันในบ้างเรื่อง แม็คคีโอว์นถนัดซ้าย เปิดบอลดีมาก แต่ต้องเทรนเยอะหน่อยด้านเกมรับ ขณะที่เฮนเดอร์สัน ขยันวิ่งขึ้นลงกราบขวา ปัจจุบัน เฮนเดอร์สันสูง 6 ฟุต และแม็คคีโอว์นสูง 6 ฟุต  2 นิ้ว ดูแลการแข่งขันให้นอร์ทเธิร์น ลีก โดยสองคนพัฒนาการร่างกายช้ากว่าคนอื่น ได้เซ็นสัญญากับซันเดอร์แลนด์ตอนอายุ 12 ปี ส่งผลให้มีโอกาสอยู่ซันเดอร์แลนด์จนถึงอายุ 16

แม็คคีโอว์นอาจไม่รู้สึกอะไร หากเขาพยายามจ่ายลูกยากๆ แต่โดนฝ่ายตรงข้ามตัดได้หรือบอลไม่เข้าเป้า แต่ดิ๊คแมนบอกว่า เฮนเดอร์สันจะอารมณ์เสียทันที หากเล่นไม่ได้ดั่งใจ “เขาจะโมโหหากทำเสีย แล้วพยายามแย่งบอลกลับมาให้เร็วที่สุด” ทั้งแม็คเนมี่และดิ๊คแมนบอกว่า ลักษณะเด่นที่สุดของเฮนเดอร์สันคือ ความมุ่งมั่น ดิ๊คแมนบอกว่า “เขาไม่เคยอยู่นิ่งในสนาม จะเคลื่อนที่ตลอด เขาวิ่งไปข้างหน้าได้ดี แต่การสเต็ปถอยหลังยิ่งดีกว่าไปด้านหน้าเสียอีก”

ซันเดอร์แลนด์ไม่มีทีมยู 15 เท่ากับเฮนเดอร์สันต้องเจอคู่ต่อสู้อายุมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการแย่งตำแหน่งในทีมหรือแข่งขันในสนาม

“ตอนอายุ 12 เฮนเดอร์สันถือว่าเด่นที่สุดในอาแคเดอมี่ แต่ระหว่างอายุ 14-16 เขามีปัญหา ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม ทักษะเขาดีเหมือนเดิม แต่ปัญหาคือพัฒนาการร่างกาย เขาเด็กกว่าคนอื่น โค้ชมีความกังวลเหมือนกัน เราพยายามปรับตำแหน่งเขาไปเรื่อยๆ ดูว่าจุดไหนเขาทำได้ดีที่สุด เคยให้เล่นปีก แต่เขาไม่เร็วพอจะเอาชนะฟูล-แบ็คได้ “

“เราให้เขาเล่นมิดฟิลด์กลาง แต่นักเตะคนอื่นตัวใหญ่กว่า เราให้เขาเป็นหน้าต่ำ ก็ไม่ช่วยทีม โค้ชคุยกันเรื่องเฮนเดอร์สันเยอะมาก สุดท้าย เขาคือนักเตะคนสุดท้ายที่เราตัดสินใจเซ็นสัญญาให้อยู่อาแคเดอมี่ ได้ทุนการศึกษา ตอนนั้นเรามีนักเตะ 7-8 คนที่เก่ง แจ๊ค โคลแบ็ค มาร์ติน แวกฮอร์น จอร์แดน คุ้ก ไมเคิ่ล เคย์และคอเนอร์ ฮูริแฮน เหล่านี้เซ็นสัญญากับทีมหลังคริสต์มาส แต่จอร์แดน เราทอดเวลานานเท่าที่จะนานได้ เพื่อให้แน่ใจ ก่อนเสนอสัญญาให้”

ไบรอัน พ่อของเฮนเดอร์สันเป็นคนเซาธ์  ชิลด์ส โดยแม็คเนมี่เป็นเพื่อนของอา “เอียน”  ทั้งพ่อ ไบรอันและอา เอียน ตัวสูง ทำให้แม็คเนมี่เชื่อสักวันเฮนเดอร์สันจะสูงเหมือนคนอื่นในครอบครัว ขณะเดียวกัน เขารู้จักครอบครัวนี่เป็นอย่างดี เชื่อว่าการเลี้ยงดูลูกให้มีวินัยเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้จอร์แดน มีสมาธิและมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย

ซันเดอร์แลนด์จัดประชุมกับพ่อแม่แทบทุกเย็นที่อาแคเดอมี่ เขาบอกว่า สิ่งที่ไบรอันสนใจเกี่ยวกับจอร์แดนคือ ความประพฤติที่อาแคเดอมี่ ก้าวหน้าบ้างหรือไม่ แต่ไม่เคยถามว่า ลูกจะมีรายได้เท่าไร “เขารู้ว่า สักวันเงินทองจะใหลมาตามความสามารถ”

เฮนเดอร์สันต้องรอจนหลังปีใหม่ กว่าซันเดอร์แลนด์เสนอทุนการศึกษาให้ แม็คเนมี่รู้ดี จอร์แดนเกิดเดือนมิถุนายน เพราะฉะนั้น เขาอายุน้อยที่สุดในทีม ร่างกายจะเติบโตมากกว่านี้ แต่ทีมแพทย์ของซันเดอร์แลนด์ให้ความเห็นตรงกันข้าม ที่จริง การเป็นนักฟุตบอลซันเดอร์แลนด์ ทีมที่เขาเชียร์ยุติก่อนที่จะเริ่มเสียอีก หากแม็คเนมี่เชื่อคำแนะนำของแพทย์

แม็คเนมี่ประชุมกับดิ๊คแมน เฮนเดอร์สันและครอบครัวที่ห้องประชุมอาแคเดอมี่ เพื่อแจ้งการตัดสินใจ “บรรยากาศเริ่มแบบเศร้าๆ ” แม็คเมนี่จำได้ “ลิซ แม่จอร์แดนร้องไห้ ผมคิดว่า จอร์แดนก็ร้องไห้เหมือนกัน พวกเขาคิดว่าเราจะปฏิเสธ พอเราบอกความจริง เราจะเติบโตไปพร้อมกับเขา สอนเขา วิ่งกับเขา จากห้องที่เงียบกริบ แทบไร้อากาศหายใจ ทุกคนโล่งอก นักเตะบางคนได้สัญญายาวกว่าคนอื่น อาจถึงการเซ็นเป็นนักเตะอาชีพ  แจ๊ค โคลแบ็คเป็นหนึ่งในนั้น แต่จอร์แดน ได้สัญญาปกติ แค่ 2 ปี และไม่รับประกันว่าจะได้เซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพหรือไม่”

เนวิลล์ พิลคิงตัน เกิดที่ซันเดอร์แลนด์ เติบโตที่เล็ทช์เวิร์ธ นอร์ธ เฮิร์ทฟอร์ดเชียร์ หน้าร้อนทุกปี เขาจะกลับมาเที่ยวบ้านเกิดพร้อมแม่ ยกเว้นอยู่ปีหนึ่ง พวกเขาบอกว่าจะพักที่บอร์นมัธในเดือนสิงหาคม เท่ากับเนวิลล์ต้องเดินทางขึ้นซันเดอร์แลนด์โดยลำพัง ตอนนั้นก็ประมาณ 3 วันกับมอเตอร์เวย์ที่ไม่ดีนัก

คืนแรกค้างที่นวอร์ค โรงแรมสำหรับคนขันรถบรรทุก คืนที่สอง ดอนคาสเตอร์ ประมาณมิดแลนด์ เป็นบ้านป้า ซึ่งเชียร์ซันเดอร์แลนด์ เนวิลล์เชียร์ซันเดอร์แลนด์เหมือนกัน เมืองและทีมฟุตบอล เมื่ออายุ 33 เขากลับมาอยูทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซื้อบ้านแถวฟูลเวลล์ สามารถมองเห็นเสาไฟแสงสว่างจากสนามโรเกอร์ พาร์คปัจจุบัน เนวิลล์ พิลคิงตันอายุ 83 ปี อยู่ซันเดอร์แลนด์มา 50 ปี แต่ยังพูดติดสำเนียงคนใต้ แน่ละ ใครจะเชื่อว่า เขาเกิดแถวนี้

“คนเราไม่เหมือนกัน” เขาย้ำ “บ้านเราไกลลอนดอน เหมือนเมืองที่ถูกลืม เราไม่ใส่ใจแสงสี หัวร้อนสู้งานหนัก”

เขาสอนหนังสือจนเกษียณอายุ จากนั้นเริ่มเป็นข่าว จับตาดูนักเตะในอาแคเดอมี่และทีมสำรอง พอได้เงินค่าเบียร์ นั่นคือเหตุการณ์ระหว่างปี 1996 ซี่งเขาสัมผัสทีมเยาวชนที่ยอดเยี่ยม ชุดแรกมีเควิน ไคล ทอมมี่ บัตเลอร์ และคลิฟฟ์ เบิร์น ทั้งสามคนได้เล่นฟุตบอลอาชีพ ชุดสองคือ มาร์ติน แวกฮอร์น ประมาณ 10 ปี หลังจากนั้น ซึ่งโดดเด่นที่สุด เท้าซ้ายยอดเยี่ยม รูปร่างเหมือนผู้ใหญ่

พิลคิงตันมองว่า เจมี่ แชนด์เลอร์เก่งกว่าเฮนเดอร์สันสมัยเล่นเยาวชน ตอนนี้ แชนด์เลอร์เล่นให้สเปนนี่มัวร์ ทาวน์ “จอร์แดนไม่เคยเลี้ยงบอลกินตัวได้ 3 คน เขาจังหวะไม่ดี เขาเล่นทางขวาของกองหน้า 3 คน แต่อาศัยจังหวะ ขอพื้นที่สักครึ่งหลา เพื่อเปิดบอล เขาสกัดไม่เด็ดขาด แต่อ่านเกมดี รู้ว่าจะกดดันฝ่ายตรงข้ามตรงไหน”

เขาจำได้ว่า ตามทีมเยาวชนซันเดอร์แลนด์ไปสก๊อตแลนด์ เพื่ออุ่นเครื่องกับเซนต์ จอห์นสโตนของโอเว่น คอยล์ เด็กซันเดอร์แลนด์อายุน้อยกว่าทีมเซนต์ จอห์น และคอยล์บอกเฮนเดอร์สันว่า หากไม่ได้รับการต่อสัญญากับซันเดอร์แลนด์ ก็มาที่เซนต์ จอห์นสโตนได้ พิลคิงตันจำได้ว่า ในการประชุมระหว่างกลุ่มแฟนบอลอาวุโส เควิน บอลล์ ตอนนั้นเป็นโค้ชยู 18 ของซันเดอร์แลนด์ ได้รับเชิญมาร่วมประชุมด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งถามว่า นักเตะคนไหนที่เขาคิดว่า น่าจะก้าวไปถึงทีมชุดใหญ่ คำตอบของบอลล์คือ “มาร์ติน แวกฮอร์น”

สก๊อตต์ เพียร์ซ เด็กจากเซาธ์ ชิลด์ส อายุมากกว่าเฮนเดอร์สัน 5  เขาได้งานกับอาแคเดอมี่ของซันเดอร์แลนด์ หลังจบวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรีย ภายใต้การดูแลของสก๊อตต์ เอนสลี่ย์

ในฐานะพนักงานใหม่ เพียร์ซมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักเตะให้มากที่สุด วิทยาศาสตร์การกีฬายุคปี 2007 ไม่เน้นเป้าหมาย แต่ยึดที่ตัวบุคคลมากกว่า อาศัยประสบการณ์และวิจารณญาณมากกว่าข้อมูล ซันเดอร์แลนด์ อาแคเดอมี่ไม่เน้นเกมที่อาศัยพละกำลัง แต่เพียร์ซพยายามให้นักเตะทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและไม่ถนัด

สิ่งที่เอนส์ลี่ย์บอกเพียร์ซคือ เฮนเดอร์สัน ร่างกายพัฒนาช้า พรีซีซั่นแรก เพียร์ซพบว่า ร่างกายของเฮนเดอร์สันอาจล้าหลังเพื่อนร่วมทีม แต่จิตใจ สติปัญญาเขาล้ำหน้าคนอื่น

“เขารู้ว่าต้องทำอะไร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย” เพียร์ซพูดถึงจอร์แดน “เขามีแรงขับดันพิเศษ พร้อมทำทุกอย่างเพื่อทีม และเด็ดเดี่ยว ไม่ว่าทำอะไร เขาพร้อมผลักดันตัวเอง และฉุดคนอื่นให้ก้าวไปพร้อมกัน”

เฮนเดอร์สันมีส่วนพัฒนาเพียร์ซให้เข้าใจฟุตบอลเยาวชน โดยเฉพาะความประพฤติ เพื่อโอกาสประสบความสำเร็จ “ผมคิดว่า จอร์แดนรู้ว่าฟุตบอลเป็นเรื่องของเวลา ไม่มีทางลัด การซ้อมได้ดีสักครั้งหรือหกครั้ง ไม่ได้หมายความว่าคุณเก่งขึ้น ต้องใช้เวลาเป็นปี”

ระหว่างอายุ 16-18 ปี สมรรถภาพด้านร่างกายของเฮนเดอร์สันไม่โดดเด่น ไม่เคยเป็นอันดับหนึ่งด้านความแข็งแรง ไม่เร็วที่สุด ร่างกายเขาเติบโตแต่ผอมมาก ดังนั้นเพียร์ซพยายามขุนให้จอร์แดนมีเนื้อกว่าเดิม “เป้าหมายเราคือทำให้เขาพร้อมสำหรับทีมสำรอง เท่ากับมีโอกาสซ้อมกับทีมชุดใหญ่บางคน ร่างกายต้องหนาพอสมควร ไม่งั้นตายแน่ อย่าเพิ่งคิดถึงโอกาสฉายแววเด่นเลย”

เฮนเดอร์สันต้องเข้าโปรแกรมซ้อมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง นักเตะคนอื่นๆ อาจเน้นที่ช่วงล่างของร่างกาย แต่เฮนเดอร์สันต้องฝึกทุกส่วน “เขาเข้าโรงยิมเยอะมาก ผมวางโปรแกรมซ้อมพิเศษให้ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เฮนเดอร์สันซ้อมคนเดียว 1 ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง เน้นกำลังขา โค้ชซันเดอร์แลนด์พยายามโน้มน้าวให้นักเตะพยายามซ้อมจนถึงขีดสุด แต่สำหรับเฮนเดอร์สัน แค่นั้นไม่เคยพอ แม้บางที เขาหมดแรงที่จะซ้อมแล้วก็ตาม”

ปีแรกในฐานะนักเตะฝึกหัด เฮนเดอร์สันมีโอกาสลงสนามน้อย เพราะโค้ชต้องการให้ร่างกายเขาพร้อมก่อน ปีสอง เขาเล่นมากขึ้น จนเป็นแกนสำคัญทีมยู 18 ตำแหน่งตัวริมเส้น เพียร์ซพบว่า จุดที่ทำให้เฮนเดอร์สันประสบความสำเร็จคือ ความสามารถในการเล่นได้เหมือนเดิม เข้มข้น ซ้ำๆ โดยเฉพาะการวิ่ง เขารับการฝึกเพิ่มความเร็ว ซึ่งเว้นระยะให้ร่างกายฟื้นตัวน้อยมาก ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงและวิ่งเร็วกว่าเดิม

ช่วงนั้น ฮอร์โมนของเฮนเดอร์สันสูบฉีด ทำให้เขาสูงกว่าโคลแบ็ค แต่ขาของโคลแบ็คกล้ามเนื้อมากกว่า เหมือนผู้ใหญ่ แต่เฮนเดอร์สันยังขาลีบเหมือนเด็ก นั่นส่งผลต่อแรงปะทะ เพิ่มโอกาสบาดเจ็บมากกว่าเดิม

เฮนเดอร์สันบาดเจ็บจริง ระหว่างอายุ 16-19 ปี แต่เพียร์ซบอกว่า ไม่ใช่เรื่องของกล้ามเนื้อ แต่เป็นกระดูกเท้าแตก ระหว่างช่วงโคเวนทรียืมตัวไป

ซันเดอร์แลนด์เช็คร่างกายนักเตะ หาความสมบูรณ์ของสุขภาพ โดยเฉพาะการพักผ่อน นักเตะต้องบอกว่า พวกเขาหลับง่ายหรือยาก นอนพอหรือไม่ สำหรับเฮนเดอร์สันไม่เคยมีปัญหาเรื่องการพักผ่อน เขาไม่ต้องการแสงสีเหมือนเพื่อนร่วมทีม ไม่คิดว่าตัวเองสูญเสียชีวิตวัยรุ่น เขาเลือกที่จะแตกต่างจากคนอื่น

“เขาฝันที่จะเป็นนักฟุตบอล ดังนั้น ไม่มีอะไรหยุดเขาจะการทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริง”

 

บทความโดย  :: กิตติกร อุดมผล

อ่านข่าวฟุตบอลต่างประเทศ :: ข่าวฟุตบอลวันนี้

บทความฟุตบอล :: บทความฟุตบอลก่อนหน้านี้

เว็บดูบอลออนไลน์ :: ดูบอลออนไลน์ฟรี